BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"หอยหิน" บุ่งคล้า!! กล้าลองกล้าลุย ของกินใต้ลำน้ำโขง





กล้าลองกล้าลุยวันนี้ คุณต้นกล้า ชัยอนันต์ ยังคงเกาะติดวิถีชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อวานนี้ได้เห็นการลุยตามหา "หอยทราย" ที่จังหวัดนครพนมไปแล้ว วันนี้พาลุยกันต่อ กับการตามหาของอร่อยอย่าง "หอยหิน" ปีนึงหาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่วิธีการหาไม่ธรรมดา ไปติดตามชมพร้อมกันใน "กล้าลองกล้าลุย"

จากอำเภอนาทม จังหวัดนครพนม กับการตามหาหอยทราย ของกินอร่อยใต้ลำน้ำโขง ที่กล้าลองกล้าลุย พร้อมกับทีมงาน เราพาไปลุยตามหา ราคาช่วงนี้สูงลิ่ว แทบไม่พอขายกันแล้ว วันนี้เราออกเดินทางต่อ ไปตามหาหอยอีกชนิดหนึ่ง เป็นที่ต้องการไม่แพ้กัน

ชาวบ้านเรียกกันว่า "หอยหิน" มีเฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น ช่วงที่น้ำลด จะหากันได้ง่าย แต่ช่วงนี้ที่บ้านบุ่งคล้าเหนือ ในอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ฝนเริ่มตก น้ำโขงเพิ่มระดับสูงขึ้น ไหลแรง และเชี่ยวอย่างที่เห็น ทำให้เพิ่มความยากในการหาหอยหินขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว เมื่อมาถึงจุด เราต้องเปลี่ยนไปใช้เรือของชาวบ้านเพื่อความคล่องตัว โดยมีเชือกยาวหลายสิบเมตรเป็นอุปกรณ์สำคัญ เพื่อใช้สำหรับหาหอยหินในวันนี้ ผมเองงานแรก ขอเป็นผู้ช่วยบนเรือกับพี่เปี๊ยก และพี่สำราญ

การหาหอยหินในช่วงที่น้ำเริ่มสูง ต้องใช้คนอย่างน้อยก็ 3 คนขึ้นไป คนแรก ทำหน้าที่ผูกมัดเชือกกับฝั่ง โดยเชือกเส้นนี้จะผูกโยงกับอุปกรณ์หาหอย คนขับเรือจะขับออกไปจนถึงกลางลำน้ำโขง โดยที่มีอีกคนคอยกะจังหวะ แล้วค่อยหย่อนอุปกรณ์ลงน้ำ

การหย่อนอุปกรณ์ ต้องให้สัมพันธ์กับทิศทางของคนดึงบนฝั่งด้วย ถึงตอนนี้ก็ต้องออกแรง ค่อย ๆ ดึงเข้าหาตัว จนเมื่อติด หรือดึงต่อไม่ได้แล้ว คนบนเรือก็จะเข้ามาช่วย และยกขึ้นให้อีกที

กว่าจะวางอุปกรณ์ กว่าจะดึงขึ้นได้แต่ละรอบ เหนื่อยไม่เบา เพราะจากการช่วยงานของผมบนเรือ เราใช้เวลาครั้งนึง 5-10 นาทีเป็นอย่างต่ำ สำหรับดึงอุปกรณ์ขึ้นมา

หน้าตาของหอยหินที่หลายคนอยากเห็น ก็จะเป็นแบบนี้

เนื่องจากเราลากดึงจากระดับพื้นดิน ทำให้มีทั้งเศษไม้ เศษดิน และอื่น ๆ ปะปนมาด้วย พี่เปี๊ยก บอกว่า เราต้องนั่งคัดเอาเฉพาะหอยหินตัวสมบูรณ์ และตัวที่มีขนาดพอจะกินได้เท่านั้น

ลักษณะพิเศษของหอยหิน คือ มันชอบเกาะอยู่ตามก้อนหินแบบนี้ เวลาที่มันอาศัย หรือหาอาหารใต้แม่น้ำโขง เนื่องจากน้ำค่อนข้างไหลเชี่ยว มองเผิน ๆ หอยหินอาจจะคล้ายกับหอยขม แต่เปลือกของมันจะหนากว่าหอยขมหลายเท่าตัว ที่สำคัญพบได้เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น

คนหาหอยหินอย่าง พี่เซียง ไพโรจน์, พี่เปี๊ยก มลรัก, พี่สำราญ อังคณา บอกว่า ช่วงน้ำหลากจะหายากมาก แถมอันตราย ชาวบ้านจึงไม่กล้าเสี่ยงออกมาหา ราคาจึงพุ่งสูง เพราะเป็นที่นิยม ปกติขายกันที่กิโลกรัมละ 35 บาท แต่ช่วงนี้ราคาจะขยับขึ้นไปอีกเท่าตัว หาได้เท่าไหร่ พ่อค้าแม่ขายรับซื้อทั้งหมด

ริมตลิ่งที่ผมกับพี่เซียงยืนอยู่ น้ำไม่ค่อยลึกเท่าไหร่ แต่ว่าเย็นใช้ได้เลย จากนี้ก็รอให้เรือออกไปจนถึงกลางลำน้ำโขง และเมื่อคนบนเรือหย่อนอุปกรณ์ลงไปในน้ำ ได้เวลาออกแรงช่วยแล้ว

แรก ๆ ที่ช่วยดึงก็สนุกดีอยู่

กว่าจะได้หอยหินเอามาขาย ใครบอกว่าง่าย เพราะพอดึงหลาย ๆ รอบ ก็เล่นเอามือไม้ของผมระบมไปเหมือนกัน

หอยหินทั้งหมดที่เราหาได้ นอกจากเอาไปขายสร้างรายได้ในครัวเรือนแล้ว เมนูที่นิยมทำรับประทาน ทำได้หลายอย่าง ก่อนอื่นคือนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้โคลนและมูล หรือขี้หอย ออกมาจนหมด ล้างน้ำให้สะอาด จะนำไปแกง ผัด หรือก้อย ได้หมด

แต่เมนูที่นิยมอีกอย่างคือ นำไปนึ่งให้สุก แล้วก็นำมาจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแซ่บ ๆ บอกเลยว่าอร่อยมาก ๆ

เนื้อด้านในของหอยหินจะแตกต่างจากหอยขม ตรงที่เนื้อขาว ไม่มีโคลน รสชาติอร่อย กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์มาก ถ้าได้ผ่านไปแถวอำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ อยากให้คุณผู้ชมและคุณผู้ฟังทุกท่าน ลองอุดหนุนชาวบ้านดูหน่อย รับรองเลยว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน










ที่มา : https://news.ch7.com/detail/358076

« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น