วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดพร้อมกับบรรยายพิเศษ ในกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาทักษะการฟ้อนรำ และพัฒนาบุคลิกภาพของผู้รำ ภายใต้โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว ณ ห้องบีเค 3 โรงแรมบีเค เพลส ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ พร้อมกับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วม โดยมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
โดยนายวิสูตร ดวงสิมา วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ มอบหมายให้ นายกีรดิษฐ์ อุทรัง หัวหน้ากลุ่มกิจการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เป็นผู้กล่าวรายงาน กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาทักษะการฟ้อนรำ และพัฒนาบุคลิกภาพของผู้รำ ภายใต้ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว ในวันนี้
ตามที่จังหวัดบึงกาฬได้อนุมัติงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดได้ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารจัดการองค์ความรู้สนับสนุนการท่องเที่ยว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กิจกรรม ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณี ศิลปะการแสดง ภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดบึงกาฬ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นที่น่าสนใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ สร้างรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวในชุมชน จากการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น การท่องเที่ยวผ่านศิลปะการแสดง เช่น การแสดงดนตรี การละเล่นพื้นบ้าน โดยเฉพาะการฟ้อนรำ ถือเป็นเครื่องมือของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นได้ เพราะการฟ้อนรำแสดงความมีสุนทรียะและความงดงาม ความอ่อนช้อย และความพร้อมเพรียงเป็นสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือประสานสามัคคีกลมเกลียวของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเริ่มก้าวไปสู่แสงสีแห่งอารยธรรมตะวันตก หันความนิยมไปยังสิ่งที่คิดว่าแปลกใหม่มากขึ้นก็ตาม แต่การฟ้อนรำ ก็ยังเป็นที่ยอมรับและนิยมในสังคมปัจจุบันอยู่ ดังจะเห็นได้จากการฟ้อนรำในเทศกาลต่างๆ ก็จะมีการฟ้อนต่างๆให้ได้ชมกันอยู่เสมอ การต้อนรับแขกเมือง สิ่งที่เชิดหน้าชูตาอย่างยิ่งก็คือ ลีลาอ่อนช้อยงดงามของการฟ้อนนี่เอง ที่ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งมิตรไมตรี อบอุ่นประทับใจแก่แขก และยังเป็นโอกาสเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอีกส่วนหนึ่งอีกด้วย
กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาทักษะการฟ้อนรำ และพัฒนาบุคลิกภาพของผู้รำ ที่เป็นผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดบึงกาฬ ได้แก่ กลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ไทญ้อ ภูไท ไทโส้ ไทพวน ลาวเวียง จำนวน 70 คน โดยมีวิทยากรจากโรงเรียนโซ่พิสัยพิทยาคม มาให้ความรู้เสริมทักษะการฟ้อนรำ และพัฒนาบุคลิกภาพของผู้รำ
เครดิตภาพ// วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ
บึงกาฬ//ข่าว : สุจินดา เมธิอิทธิกุลไพศาล
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น