BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ทำความรู้จัก กับกฎหมายการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

ทำความรู้จักกับกฎหมายการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า



การละเมิดกฎหมายด้านการคุ้มครองสัตว์ป่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากการนำเสนอข่าวทั้งการลักลอบค้า การครอบครองอย่างผิดกฎหมายปรากฏให้เห็นขึ้นแถบทุกสัปดาห์ และในหลายๆ กรณีปรากฏในสถานที่หรือบุคคลสาธารณะอาทิ ภายในวัดหรือนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงบางท่าน ทำให้เกิดทั้งคำถามและความสงสัยมากมายถึงตัวบทกฎหมายที่ดูแลการคุ้มครองสัตว์ป่าของไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่หรือไม่

กฎหมายหลักที่ใช้เพื่อดูแลการคุ้มครองสัตว์ป่าคือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2546ซึ่งสัตว์ป่านั้นหมายถึง สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์ปีก แมลงหรือแมงซึ่งโดยสภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้ว และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว

โดยสัตว์ป่าคุ้มครองในการนี้หมายถึงสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 สัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองแบ่งได้ 7 ประเภทคือ

1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีจำนวน 201 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว วัวแดง กระทิง โลมา ชะนีมงกุฎ เป็นต้น

2. นกมีจำนวน 952 ชนิด ได้แก่ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกคอแดง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว เป็นต้น

3. สัตว์เลื้อยคลานมีจำนวน 91 ชนิด ได้แก่ กิ้งก่าแก้ว งูจงอาง งูทางมะพร้าวตะพาบตุ๊กแกบ้านสีเทา เต่ากระ เป็นต้น

4.  สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีจำนวน 12 ชนิด ได้แก่ กบดอยช้าง คางคกขายาว คางคกต้นไม้  เป็นต้น

5.  ปลา มีจำนวน 14 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ ปลาค้างคาว ปลาพลวงถ้ำ ปลาติดหิน เป็นต้น

6.  แมลง มีจำนวน 13 ชนิดได้แก่ ด้วงกว่างดาว ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ผีเสื้อรักแร้ขาว เป็นต้น

7.  สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ จำนวน 13 ชนิด ได้แก่ ปูเจ้าฟ้า กัลปังหาทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonacea  ดอกไม้ทะเลทุกชนิดในอันดับ (Order) Gorgonaceaปะการังแข็งทุกชนิดในอันดับ (Order) Scleractinia และในอันดับ (Order) Stylasterinaหอยมือเสือทุกชนิดในวงศ์ (Family) Tridacnidae  หอยสังข์แตร เป็นต้น

โดยในรายชื่อสัตว์คุ้มครองทั้งหมดนั้นได้มีการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ซึ่งออกมาเป็นกฎกระทรวงในปี 2546 โดยสัตว์เหล่านี้สามารถทำการเพาะพันธุ์ได้เป็นที่สำเร็จจนลดการสูญพันธุ์ลงได้ มีดังนี้

1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ กระจงเล็ก กวางป่า  ชะมดเช็ด ทราย ลิงกัง ลิงวอก ลิงแสม  อีเก้ง

2. นก มีจำนวน 42 ชนิด ได้แก่ ไก่จุก ไก่ป่า  ไก่ฟ้าพญาลอ นกกระทาทุ่ง นกกางเขนดง นกขุนทอง เป็นต้น

3. สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 6 ชนิด ได้แก่งูสิง งูสิงหางลาย  งูหลาม งูเหลือม จระเข้น้ำเค็ม จระเข้น้ำจืด

4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มี1 ชนิด คือกบทูดหรือเขียดแลว

5. ปลา มี 2 ชนิดคือ ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า  และปลาเสือตอหรือปลาเสือ

โดยมีการกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด ตามลักษณะความผิดเอาไว้ดังนี้

1.โทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

1.1 ล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยที่ไม่เป็นข้อยกเว้น

1.2 มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ยกเว้น เป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมาย

1.3 ค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ยกเว้น เป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมายนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า หรือนำผ่านสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี

2.โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

2.1 เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

2.2 นำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยมิใช่กรณีการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ และได้รับอนุญาตจากอธิบดี

2.3 จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

3. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ มีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต

4. โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ ทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต

5. โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

5.1 เก็บ ทำอันตราย มีรังของสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง

5.2 ยิงสัตว์นอกเวลาอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น

5.3 ล่าสัตว์ป่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าอื่นๆ หรือเก็บ หรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในบริเวณวัดหรือในบริเวณสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

6. โทษปรับไม่เกินห้าพันบาท สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ นำสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี นำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า โดยไม่แจ้งหรือแสดงใบอนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า

7. โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ ล่าสัตว์ป่าใดๆ เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

8. โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

8.1 ยึดถือ ครอบครองที่ดิน ปลูกสร้างสิ่งใด แผ้วถาง ทำลายต้นไม้ พรรณพืช ฯลฯ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

8.2 ล่าสัตว์ เก็บรัง ยึดถือครอบครองที่ดิน ทำลายต้นไม้ พันธุ์พืช ฯลฯ ในเขตกำหนดห้ามล่าสัตว์ป่า

9.โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ "ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้"

10. กรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตน มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย

จะเห็นได้ว่าการคุ้มครองสัตว์ป่าของไทยในกฎหมายนับว่ามีความเข้มข้นทั้งตัวเนื้อหาและบทลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมจะสร้างความมั่นใจในการดูแลคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

นอกจากนี้ด้วยข่าวการจับกุมการลักลอบค้าสัตว์ป่าและฆ่าสัตว์คุ้มครองในพื้นที่อุทยานต่างๆ อาจจะยังเป็นภาพสะท้อนของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากรวมทั้งการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในสังคมให้มากขึ้น


อ้างอิง

สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น