พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ได้รับรางวัลพิเศษอันทรงเกียรติในประเภทสาขา Institutions หรือที่เรียกว่า สถาบันเพื่อสาธารณะ มีเพียงพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลกที่ได้เกียรติอันสูงสุด
นักออกแบบภาพลักษณ์อาหาร เจ้าของ Karb Studio “สุทธิพงษ์ สุริยะ” ที่คลุกคลีคว่ำหวอดกับการออกแบบอาหารและการเกษตรมากว่า 25 ปี ได้นำองค์ความรู้และความชื่นชอบงานศิลปะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดยังหมู่บ้านเล็กๆ ที่อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ โดยนำบ้านของครอบครัวตัวเองมาออกแบบใหม่ ผสมผสานความดั้งเดิมกับความร่วมสมัย เพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน พร้อมนำเรื่องราวของพญานาคที่คนลุ่มแม่น้ำโขงศรัทธา หยิบยกออกมาจากวัดเพื่อวาดรูปสร้างเรื่องราวผ่านงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จนทำให้นักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่สนใจเดินทางมาเยี่ยมชม
สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ เล่าว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ แห่งนี้ได้นำศิลปะเข้ามาจัดการอย่างมีระบบ เพื่อให้เข้ากับวิถีเกษตรชุมชน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้คนมาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน มีการเปิดตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรของชุมชน จุดเด่นของที่นี่ คือ “ศิลปะ” โดยนำแนวคิดการออกแบบร่วมสมัยเข้ามาผสมผสานให้ดูสวยงามและมีอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้เกิดชุมชนเกื้อกูล บอกเล่าเรื่องวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิมให้คนอยู่ใกล้ชิดและอบอุ่นกัน โดยมีแนวทางเกษตรเป็นตัวเชื่อมทำให้เกิดความยั่งยืน
และด้วยความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ฯ ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้สนับสนุนในการจัดพิมพ์พ๊อกเก็ตบุ้คในชื่อว่า hello SOPHISAI เพื่อเล่าเรื่องราวของการทำชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านมีรายได้ที่ยั่งยืนผ่านในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ช่วยเพิ่มเศรษฐกิจชุมชนได้ เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทยได้เห็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน
ล่าสุดพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ที่ถูกจัดพิมพ์เป็นพ๊อกเก็ตบุ้ค ได้ส่งไปประกวดที่ประเทศฝรั่งเศส ในเวทีออสการ์อาหารโลก Gourmand Awards ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดยมีวัตถุประสงค์ในการเฟ้นหาบุคคลสุดยอดของโลก เพื่อสดุดีและเชิดชูเกียรติซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม ที่ได้อุทิศตนทำคุณประโยชน์และสร้างคุณค่าให้กับสังคมโลก โดยเปิดรับผลงานเป็นหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกกว่า215 ประเทศ และ 10,000 ผลงานในแต่ละปี เพื่อเข้าชิงรางวัลเกียรติยศชนะเลิศที่สุดของโลกเพียง 130 ประเภทสาขาเท่านั้น
และปลายเดือนธันวาคม 2562 ทางกองประกวดได้ประกาศให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ได้รับรางวัลพิเศษอันทรงเกียรติเป็นที่เรียบร้อย ในประเภทสาขา Institutions หรือที่เรียกว่า สถาบันเพื่อสาธารณะ ซึ่งรางวัลดังกล่าวจะจัดขึ้นในกลางปี 2563 นี้ และเชิญเจ้าของพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ ไปรับรางวัลดังกล่าว ซึ่งในเวทีออสการ์อาหารโลกครั้งนี้ มีเพียงพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลกที่ได้เกียรติอันสูงสุด
ภาพข่าว : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ
บึงกาฬ//ข่าว : นสพ.แนวหน้า
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น