BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

คลัง เตรียมแจกเงิน 5,000 ให้ลูกจ้างรายวัน นอกประกันสังคม เริ่ม เม.ย. นี้






นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร แถลงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2










โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ด้วยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น หากยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรัฐฯยังมีสินเชื่อฉุกเฉิน และ สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอใช้จ่ายในช่วง 3 เดือนนี้ รวมถึงชุดมาตรการอื่นๆ ที่ออกมาช่วยเหลือควบคู่กันด้วย ตอนนี้ไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกกับสถานการณ์ปัจจุบันมากนัก โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขอนามัย ป้องกันการแพร่ระบาดลการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนและภาคเอกชนควรให้ความร่วมมือ เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถช่วยลดการติดต่อ ลดการแพร่เชื้อ แน่นอนว่าการปิดสถานบริการต่างๆ ในระยะสั้นต้องยอมเสียสละกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจไทย

“แต่หากไทยสามารถหยุดยั้งไวรัสโควิด 19 ได้สำเร็จ หลังจากนี้จะเป็นช่วงของการฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งเบื้องต้นได้มีการเตรียมความพร้อมชุดมาตรการออกมาดูแลประชาชน ตั้งแต่เดือน เมษายน- กรกฎาคม เพื่อดูแลปัญหาภัยแล้ง พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน”









สำหรับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2  มีดังนี้

1. มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคม” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ประกอบด้วย 8 มาตรการดังนี้

1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบ ประกันสังคมหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)  เช่น สนามมวย สนาม กีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส สถานบริการอื่น ๆ เป็นต้น หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ (รวมถึงกลุ่มคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมเอง)

ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจาก สำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกรได้รับความ ช่วยเหลืออื่น ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว)

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติและการโอนเงินผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

เบื้องต้นประชาชนสามารถลงทะเบียนได้ที่สาขาของธนาคาร หรือลงทะเบียนที่ เว็ปไซต์  www.เราไม่ทิ้งกัน.com  (ทำตามขั้นตอน) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันเสาร์นี้เป็นต้นไป









1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน ที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563









1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชน ฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัส COVID-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชน ฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยคิด ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

1.5 มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำ กิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

1.6 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระให้แก่ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

1.7 มาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อน ค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และรัฐสามารถ นำรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการทำประกันสุขภาพของประชาชนไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น

1.8 มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ (1) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 (2) ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการ ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ ได้รับในปีภาษี 2563 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น


2. มาตรการดูแลและเยียวยา “ผู้ประกอบการ” ประกอบด้วย 7 มาตรการ ดังนี้

2.1 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัส COVID-19 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของ ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่ เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร โดยธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อ รายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึง วันที่ 30 ธันวาคม 2563

สำหรับมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้ง ทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส COVID -19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้นำหลักในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเร็ว เพื่อประคองให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในภาวะเช่นนี้

2.2 มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

(1) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563

(2) รอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) สำหรับกรณีที่จะต้องยื่นรายการชำระภาษีตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2563 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจาก การเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท 

2.3 มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี โดยเลื่อนเวลา การยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภทที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่

(1) ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ เช่น กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

(2) ผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เฉพาะที่มีเหตุอันสมควรให้เลื่อนเวลาออกไป โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณา เป็นรายกรณี เพื่อเป็นการลดภาระในการจัดทำเอกสารและการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ดังกล่าว

2.4 มาตรการขยายเวลาการชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและ ผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาด ไวรัส COVID กรมสรรพสามิตให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากเดิมยื่นขอชำระภาษีภายใน 10 วันเป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยให้ ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

2.5 มาตรการขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบ กิจการสถานบริการที่จัดเป็นบริการตามบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้ประกอบกิจการ สถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากการให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่ เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นการชั่วคราว กรมสรรพสามิตขยายเวลาการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการ ประกอบกิจการสถานบริการ ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา และสถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด ตลอดจนกิจการเสี่ยงโชคประเภทสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟ ให้ยื่น แบบรายการและชำระภาษีภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

2.6 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามรายการ ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น

2.7 มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

2.7.1 (1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้สำหรับ เงินได้ที่ได้จากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้

(2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้และเจ้าหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือ การให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

(3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ จำนองเป็นประกันหนี้ของเจ้าหนี้ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว โดยลูกหนี้ต้องนำเงินนั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระหรือมีภาระผูกพันตาม สัญญาประกันหนี้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดี และ

(4) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ

2.7.2 ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนอง อสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด ซึ่งกรมที่ดินจะดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว ร้อยละ 0.01 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้นเป็นการขยายหลักเกณฑ์จากมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมภายใต้มาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมการปรับปรุง โครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ แล้วประกอบอาชีพและธุรกิจต่อไปได้ และเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้ สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ



ข่าวต้นฉบับ


« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น