BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563

อัปเดตทุกสิ่งที่คุณต้องรู้ COVID-19 อาการเบื้องต้น วิธีป้องกัน สมุนไพรป้องกันป่วย


ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay



1. ไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างไร

ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ผ่านทางละอองเสมหะจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย


2. ระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสิ่งแวดล้อมภายนอก

ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าไวรัสโควิด-19 อยู่บนพื้นผิวได้นานเพียงใด ไวรัสอาจอยู่รอดได้ในไม่กี่ชั่วโมง โดยน้ำยาฆ่าเชื้อสามารถฆ่าเชื้อไวรัสไม่ให้สามารถแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี

3. ประชาชนทั่วไปควรป้องกันตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้อยู่ในภาวะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19

หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วย รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตา จมูก และปาก โดยไม่ได้ล้างมือ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ล้างมือ 70% หากมีไข้ ไอ หายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินทาง

4. อาการของผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 มีอาการอย่างไร ?

อาการทั่วไป ได้แก่ อาการระบบทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ หายใจถี่ หายใจลำบาก ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ ไตวาย หรืออาจเสียชีวิต

5. ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียเงินเท่าไหร่

ขณะนี้ภาครัฐได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน ทุกโรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยที่เข้าข่ายเสี่ยงทั้งหมด โดยหากตรวจพบเลือดเป็นผลบวก คือติดไวรัสโควิด-19 จะได้รับค่ารักษาฟรีทั้งหมด ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

6. เชื้อสามารถแพร่กระจายในบริเวณสระว่ายน้ำได้หรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากการว่ายน้ำในสระหรือแหล่งน้ำอื่น แต่ควรหลีกเลี่ยงสระน้ำที่มีผู้คนแออัด

7. เดินทางไปประเทศเสี่ยงอย่าง เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี หลังจากกลับมาจะโดนกักตัว 14 วันหรือไม่

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเสี่ยง เมื่อเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้งดการออกไปในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น และให้วัดอุณหภูมิกายทุกวัน จนกว่าจะครบ 14 วัน นับจากเดินทางถึงประเทศไทย ระหว่างการสังเกตอาการ หากพบว่ามีไข้ ไอ ให้พบแพทย์โดยทันที

8. ประชาชนสามารถไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้สถานที่ใดบ้าง

1. คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
2. คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
3. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. รพ.ราชวิถี
5. สถาบันบำราศนราดูร
6. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
7. รพ.บำรุงราษฎร์
8. คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
9. รพ.มหาราชนครราชสีมา
10. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
11. รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
12. ศูนย์วิจัยมาลาเรียโซโคล ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา
13. รพ.ลำปาง
14. รพ.สวรรค์ประชารักษ์
15. บริษัท ไบโอ โมเลกุลาร์ แลบบอราทอรีส์ (ประเทศไทย)
16. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายไทย)
17.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐอเมริกา)
18. สำนักป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง
19. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี
20. รพ.นครปฐม

9. ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่

ทุกคนมีสิทธิจะติดโรคได้เท่ากัน ในทุกอายุ เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ทุกคนจึงยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ ไม่ว่าจะร่างกายแข็งแรง จะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ แต่ความรุนแรงของโรคอาจแตกต่างกัน โดยผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี หรือในอายุน้อย ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมากหรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย

10. ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง ทราบผลภายใน 10 นาที ที่นำเข้าจากประเทศเกาหลี ใช้งานได้จริงหรือไม่

ชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ที่จะต้องขอขึ้นทะเบียนกับ อย.ก่อน และขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนทุกยี่ห้อ ซึ่งประชาชนไม่ควรซื้อมาตรวจเอง เพราะการตรวจวินิจฉัยต้องมีการประเมินอาการอื่นร่วมด้วย จึงมีโอกาสที่จะเกิดผลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงได้

11. การประกาศสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 แบ่งเป็นกี่ระยะ และหมายถึงอะไร

ระยะที่ 1 พบผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
ระยะที่ 2 มีการติดเชื้อในประเทศ ในวงจำกัด และคนภายในประเทศติดเชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ
ระยะที่ 3 มีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งคนภายในประเทศติดเชื้อจากคนภายในประเทศกันเอง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

12. หากติดเชื้อไวรัส COVID-19 จนรักษาหายแล้ว สามารถกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่

โดยหลักการทางไวรัสวิทยาแล้ว ในโคโรนาไวรัส การเป็นแล้วควรจะมีภูมิต้านทานที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้โรคนี้กลับมาเป็นใหม่ได้ แต่ต้องมีการศึกษาในระยะต่อไปว่าตัวไวรัส จะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเหมือนเช่นในกรณีไข้หวัดใหญ่ที่สามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้ เนื่องจากสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกปี แต่สำหรับ COVID-19 ขณะนี้ยังไม่เห็นพฤติกรรมของไวรัสนี้ เป็นแบบไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด

13. ถ้ามีการเดินสวนกับผู้ป่วยไวรัส COVID-19 จะสามารถติดโรคได้หรือไม่

การเดินสวนกันไปมาไม่สามารถติดโรคได้ เพราะโรคนี้ติดทางฝอยละออง ถ้าไม่มีการไอจาม ออกมา โอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าน้อยมาก นอกจากนี้พบว่าฝอยละอองจากน้ำลายสามารถพุ่งถึงกันได้หากอยู่ในรัศมีภายใน 1 เมตร จึงได้มีการกำหนดระยะห่างระยะที่ปลอดภัยคืออย่างน้อย 2 เมตร ในช่วงที่มีการระบาดของโรค

14. เชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถติดต่อกัน ผ่านระบบท่อแอร์ที่ใช้ร่วมกันในสำนักงานได้หรือไม่

เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มีการแพร่กระจายทางอากาศ แต่มีการติดต่อกันทางการสัมผัส ดังนั้นการติดต่อกันผ่านทางท่อแอร์จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อาจติดเชื้อจากคนที่อยู่ในบริเวณสำนักงานเดียวกันได้

15. การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ควรปฏิบัติตนอย่างไร

พยายามยืนรอในจุดที่มีผู้คนไม่แออัดมากนัก มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งที่ใช้บริการ พกแอลกฮอล์หรือเจลล้างมือที่มีความเข้มข้นมากกว่า 70% เพื่อทำความสะอาดมือที่ใช้จับหรือโหนราวรถเมล์ รถไฟฟ้า MRT BTS ทุกครั้งหลังใช้บริการ

16. ประเทศไทยมีการประกาศให้ประเทศใดบ้าง เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายจากไวรัสโควิด-19

ประเทศจีน (รวมฮ่องกง , มาเก๊า) ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศอิตาลี และประเทศอิหร่าน

17. เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถเข้าทางบาดแผลในร่างกายได้หรือไม่ ?

จากการตรวจสอบ ยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อเชื้อทางบาดแผลได้แต่อย่างใด

18. ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสหายป่วยสูงหรือไม่ ?

ผู้ป่วยทั่วไปมีโอกาสหายจากโรคได้เอง สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพบว่ามีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที

19. การใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า และมีการซักด้วยผงซักฟอกตามปกติ จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

การซักผ้าด้วยผงซักฟอกและนำไปตากแดด เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว

20. ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

ไม่ได้ เพราะเป็นเชื้อคนละตัวกัน

21.ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นแล้ว จะเสียชีวิตทุกคนหรือไม่ ?

ไม่ทุกคน พบอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2-3 % เท่านั้น แต่พบว่าในกลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่มีอายุมากกว่า 80 ปี สูงถึง 14–20 %

22. ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การตรวจหาไวรัสโควิด-19 ฟรี ต้องมีลักษณะอย่างไร ??

1. มีไข้ 37.5 °C ขึ้นไป พร้อมมีอาการ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ
2. มีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วัน ก่อนมีอาการ อาทิ
เดินทางมาจากเขตโรคติดต่อ / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
ประกอบอาชีพที่สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตโรคติดต่อ / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ / ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ

23. ยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร สามารถรักษาโรคไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่

ฟ้าทะลายโจร เป็นยาสมุนไพรที่กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำให้ใช้รักษาหวัด และให้กินทันที ส่วนไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มโคโรนาไวรัส ไม่ใช่เชื้อไข้หวัดใหญ่ และยังไม่เคยมีการนำฟ้าทะลายโจรมาทดลองใช้รักษาโควิด-19 แต่อย่างใด

24. ปอดของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกทำลายเสียหายทุกคนหรือไม่ ?

ไม่ทุกคน ส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ทั้งนี้พบบางรายที่มีภูมิต้านทานทำงานผิดปกติจนปอดได้รับความเสียหาย

25. ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่

การใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันละอองฝอยที่ออกมากับลมหายใจและน้ำลาย จึงแนะนำให้ผู้ป่วยทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นๆ ขณะที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องเข้าพื้นที่ชุมชนที่แออัดมาก ต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เช่นกัน ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาจเลือกใส่หน้ากากแบบผ้าแทนได้

26. ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หรือไม่

จากข้อมูลในการศึกษาทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก พบว่าไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ 1-14 วัน ในขณะนี้เริ่มมีข้อมูลว่าผู้ป่วยในระยะฟักตัวระยะท้ายๆ อาจจะส่งต่อโรคไปยังผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โอกาสที่จะมีอาการไอ จาม หรือมีฝอยละอองออกมา มีโอกาสน้อยกว่าคนที่มีอาการ ดังนั้นคนที่ไม่มีอาการไอ หรือจาม ก็มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อน้อย แต่ทั้งนี้ทุกคนที่ต้องสงสัยว่าติดไวรัสโควิด-19 สมควรกักตัวเฝ้าระวังในบริเวณที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อให้ผู้อื่น

27. การหยิบจับ ธนบัตร หรือเหรียญ มีโอกาสทำให้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่??

ได้ เพราะธนบัตรถือเป็นกระดาษ ในขณะที่เหรียญมีพื้นผิวสัมผัส ดังนั้นมีโอกาสที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะเกาะติดอยู่กับของทั้ง 2 ชนิด ลักษณะเดียวกับ ลูกบิดประตู ปุ่มลิฟท์ แป้นกดเอทีเอ็ม โทรศัพท์ ฯลฯ ดังนั้นหากสัมผัสสิ่งเหล่านี้ อย่านำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก และให้ล้างมือทันทีภายหลังสัมผัส

28. การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องแล็บมีกี่วิธี ??

มีอยู่ 2 วิธี คือ
1. การตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ (Real-time RT PCR) ซึ่งจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน ใช้เวลาตรวจเฉพาะในห้องแล็บ 2.5-3 ชั่วโมง ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บอยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท
2. การตรวจจากการเจาะเลือด(Rapid test) แต่โควิด-19 เลือดไม่ใช่เป็นจุดที่มีเชื้อเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการตรวจเลือดกรณีโรคนี้ไม่ได้เป็นการหาเชื้อ แต่เป็นการหาภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องตรวจเมื่อมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นแล้ว ใช้เวลาตรวจ 15-30 นาที ปัจจุบันเป็นการนำเข้าชุดตรวจราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กำลังพัฒนาชุดตรวจให้อยู่ในราคาชุดละ 200 บาท

29. สมุนไพรชนิดใดบ้างที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและต้านเชื้อไวรัสต่างๆ ได้ ??

กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง, เห็ดต่างๆ, ตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)
กลุ่มที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ดอกขี้เหล็ก, ยอดมะยม, ใบเหลียง, ยอดสะเดา, มะระขี้นก, ฟักข้าว, ผักเชียงดา, คะน้า, มะรุม, ผักแพว มะขามป้อม, ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี กลุ่มที่มีสารสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เช่น พลูคาวหรือผักคาวตอง กะเพรา หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิล เปลือกผลของพืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า)

30. เครื่องวัดอุณหภูมิมีกี่ประเภท

4 ประเภท คือ
1. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบแท่งแก้ว
2. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิตอล
3. เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู
4. เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก

31. กรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโควิด-19 ไม่คุ้มครองในกรณีใดบ้าง

(1) เจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อนทำประกันภัย
(2) การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
(3) ติดเชื้อฯ ในช่วงระยะเวลารอคอย
(4) การตรวจวินิจฉัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อโควิด-19

32. ประโยชน์ของการตรวจแล็บ เพื่ออะไร ??

1. เอาไว้วินิจฉัยรักษาโรค เพื่อแสดงว่าคนนี้เป็นโรคหรือไม่เป็นโรค วิธีที่เป็นมาตรฐานใช้ทั่วโลก คือการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ หากผลแสดงว่าเจอเชื้อ แปลว่าเป็นโรค ก็ให้การรักษา และเมื่อให้การรักษาแล้วเชื้อหายหรือหมดไปหรือไม่
2. เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค กรณีพบผู้ที่มีเชื้อ ก็จะต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อให้คนอื่น ก็จะมีมาตรการกักตัว หรือแยกกัก
3. เป็นข้อมูลเชิงระบาดวิทยา เอาไว้ใช้ในการกำหนดมาตรการในการควบคุมโรคต่างๆ หรือประโยชน์ในการฉีดวัคซีน

33. ซื้อประกันภัยไวรัสโควิด-19 ไว้หลายฉบับ ถ้าตรวจเจอเป็นโรค บริษัทจะจ่ายทุกกรมธรรม์หรือไม่ ?

กรณีที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครองเมื่อตรวจวินิจฉัยและพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 จ่ายทุกกรมธรรม์ เว้นแต่กรมธรรม์สำหรับค่ารักษาพยาบาลจะเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง เช่น หากเรียกร้องจากบริษัทแรกครบแล้ว ในส่วนที่เหลือมาเบิกจากบริษัทที่ 2 ได้ เว้นแต่ตรวจพบในระยะเวลารอคอยที่กำหนดในกรมธรรม์ จะไม่ได้รับความคุ้มครอง

34. ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 คืออะไร

ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจนว่ามาจากที่ใด แต่เป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาด คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่”

35. การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ยังไม่มีการแสดงอาการหรือมีสัญญาณเจ็บป่วย อาจได้ผลที่คลาดเคลื่อน ใช่หรือไม่

ใช่ เพราะหากไปตรวจเลือดในช่วงเวลาที่ยังไม่มีอาการใดๆ ภูมิคุ้มกันก็ยังไม่เกิดขึ้น การไปเจาะเลือดตรวจโดยยังไม่มีอาการ หากผลเป็นลบก็จะแปลผลได้ว่า “ยังไม่มีภูมิเกิดขึ้น” ไม่ได้แปลว่า “ไม่ติดเชื้อ” เพราะอาจจะอยู่ในระยะฟักตัวโดยที่ยังไม่มีอาการ อาจจะติดเชื้อและมีอาการเกิดขึ้นภายหลังได้

36. ลวกช้อนส้อมก่อนใช้ ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่

ปกติแล้วเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) จะตายในน้ำอุณหภูมิที่สูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที หากน้ำที่ใช้ลวกช้อนส้อมไม่ร้อนเพียงพอ และใช้เวลาแช่ไม่นานพอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสฯ ได้ อย่างไรก็ตามหากมีความกังวลใจ ควรใช้ช้อนส้อมของตัวเอง หรือล้างช้อนส้อมก่อนใช้ให้สะอาด

37. หากสงสัยว่าอาจป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อได้ที่ไหน

สามารถโทรศัพท์แจ้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทุกแห่ง หรือที่กรมควบคุมโรค เบอร์โทร 1422

38. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ ??

ไม่ได้ เพราะยังไม่พบหลักฐานว่าการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้แต่อย่างใด

39. หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ และมีผู้ป่วยจากการติดไวรัสวิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่

มีโอกาสติดโรค เพราะว่าปัจจุบันหลักฐานทางการแพทย์ที่มาสนับสนุนว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบ 100 % นั้นยังไม่พบ ดังนั้นแม้จะใส่หน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน แต่เมื่อเราไปสัมผัสฝอยละอองแบบตรงๆ เช่นนี้ ก็มีโอกาสติดโรคได้ แต่ทั้งนี้การใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีจึงควรใส่เมื่อต้องออกไปในที่สาธารณะ

40. ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่

ไม่ทุกราย โดยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80 สามารถหายจากอาการป่วยได้เอง และพบผู้มีอาการป่วยหนักอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เท่านั้น ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสฯ แล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิต คือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ

41. หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 มีเบอร์ใดบ้าง ??

สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน 1669
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน 1111

42. เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้หายจากการเป็นไข้แล้ว จะยังมีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ภายในร่างกาย

เป็นไปได้ เพราะมีข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในเมืองอู่ฮั่น ที่พบว่ายังคงพบร่องรอยของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ภายในร่างกายของผู้ติดเชื้อไวรัสฯ อีกสองสัปดาห์ ขณะที่ผลวิจัยบางส่วนพบว่ามีผู้ป่วยบางรายพบเชื้อภายในร่างกายนานถึง 37 วัน ดังนั้นจากค่าเฉลี่ยจึงคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ไวรัสโควิด-19 จะยังคงอยู่ในร่างกายนานถึง 24 วัน
43.ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ติดต่อทางไหน แพร่จากคนสู่คนได้อย่างไร ??

ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แพร่กระจายเชื้อได้จากละอองฝอย จากการไอหรือจาม น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งหากร่างกายสูดดมของผู้ติดเชื้อจะสามารถรับเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายได้

45. เราควรป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่ออยู่ในร้านอาหาร

ควรจำกัดเวลาอยู่ในร้านให้น้อยที่สุด คอยรักษาระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 1 เมตร นอกจากนี้ควรชำระเงินด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

46. อาการของผู้ติดไวรัสโควิด-19 มีความแตกต่างจากการเป็นไข้หวัดธรรมดาอย่างไร

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และติดเชื้อไข้หวัด จะมีลักษณะอาการที่คล้ายกัน คือเป็นไข้และไอจาม แต่สิ่งที่ต่างกัน คือผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะรู้สึกหายใจลำบาก

47. ไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อได้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือไม่

ไม่ ข้อเท็จจริงคือ ไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อได้ในทุกช่วงวัย แต่พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับเชื้อไวรัสฯ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

48. ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแสดงอาการป่วยทันทีเลยหรือไม่

ไม่ทันที เพราะไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัว อยู่ที่ประมาณ 2-14 วัน โดยพบว่าบางราย อาจไม่พบข้อบ่งชี้อาการป่วยที่สามารถสังเกตเห็นได้

49. ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) มีจุดกำเนิดมาจากที่ใด

ตามข้อมูลในเบื้องต้นมีข้อมูลสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์ในตลาดสดอู่ฮั่น ประเทศจีน คาดว่าน่าจะเกิดมาจากงู โดยเชื้อส่งผ่านจากค้างคาวมาสู่งูและงูไปยังมนุษย์

50. หากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 การให้นมบุตรจะเป็นการแพร่เชื้อหรือไม่

ยังไม่มีรายงานวิจัยใดๆ ที่พบว่ามารดาที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถแพร่เชื้อไวรัสฯ ผ่านนมสู่ลูกได้ แต่การดูแลบุตรอย่างใกล้ชิดอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อบุตรที่อาจได้รับเชื้อไวรัสฯ จากมารดาได้ จากการไอหรือจาม (เช่นเดียวกับการเป็นไข้หวัดใหญ่)

51. ในร่างกายมนุษย์สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้เองหรือไม่

ได้ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสฯ ได้เอง ยกเว้นว่าการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจะบกพร่อง ซึ่งส่งผลให้บางรายที่ได้รับเชื้อไวรัสฯ มีอาการป่วยหนัก และต้องพบแพทย์




ข่าวต้นฉบับ



« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น