BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ เรียกประชุม กำชับดูแล นทท. ตั้งคณะทำงานดูแลถ้ำนาคาร่วมกัน



ผู้ว่าฯบึงกาฬ แจงการจัดการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” กำชับให้ทุกคนต้องจองคิวล่วงหน้าผ่านแอพ QueQ ส่วนการเพิ่มโควตา นทท.ขึ้นมากกว่า 500 ต่อวันมีความเป็นไปได้ แต่จะต้องปรับปรุงทางขึ้น-ลงให้ดีเสียก่อน เพื่อความปลอดภัย และต้องไม่ทำลายธรรมชาติด้วย

วันที่ 8 ก.พ. นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ พร้อมด้วย นายมณเฑียร วิริยะพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบึงกาฬ นายสฤษดิ์ รัตนวงษ์ นายอำเภอบึงโขงหลง และประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ ลงพื้นที่เตรียมเยี่ยมการปฏิบัติงาน และการต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้าไปเที่ยวชมถ้ำนาคา ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา ฝั่งอำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ พร้อมให้คำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงาน ให้ปฏิบัติการกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยไม่ให้กระทบกับนักท่องเที่ยว บูรณาการสร้างความเข้าใจและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาให้เกิดความประทับใจ และไม่เดือดร้อนทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ซึ่งเข้านี้ จนท.แจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปชมถ้ำนาคา ตั้งแต่ 6 โมงเช้า จนถึงเวลา 10 โมงเช้า โดยแสดงหลักฐานการจองคิวขึ้นถ้ำแล้ว กว่า 250 คน และยังใช้ระบบจองผ่านแอพ QueQ เท่านั้นจึงจะสามารถขึ้นไปถ้ำนาคาได้ 

ด้าน ไกค์อาสา ให้ความเห็นกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวานนักท่องเที่ยวมาไม่ครบ 500 คนค่ะ มาประมาณ 424 – 425 คน ไกด์มาทำงานประมาณไม่เกิน 150 คน แต่ก็ขึ้นไม่หมด ไกด์ทั้งหมด 631 คน มาทุกวัน แค่ได้ขึ้นก็พอใจ ระบบที่ออกแบบมาใหม่จะดีมากถ้าไกด์ได้ขึ้นทุกคน เพราะไม่ได้แออัดแบบเดิม ระบบเก่าก็จับสลากเหมือนกันแต่ถ้านักท่องเที่ยวต้องการไกด์คนเดิมก็ไปได้ ระบบใหม่ก็ไม่ต่างกันเยอะ อยากเสนอว่า ที่เปิดให้จองในแอปฯ QueQ นักท่องเที่ยว 500 คน อาจไม่เพียงพอต่อไกด์อาสาท้องถิ่น จึงขอเปิดจองในแอปฯ QueQ เพิ่ม เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เช่นจาก 500 อาจจะเป็น 700 คน ก็แล้วแต่จะพิจารณาว่า จะเพิ่มกี่ร้อย เพื่อให้อาสาได้มีหน้าที่ได้ทำงานครบทุกคน แต่ถ้าเป็นแบบนี้ มาก็ไม่ได้ขึ้น มาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เพื่อมาจับคิวตอน 6 โมงเช้า แต่ระบบใหม่ทุกคนต้องนั่งอยู่ตรงนี้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็มีผลกระทบ มาตั้งแต่ตอนตี 5 ถ้าไม่ได้ขึ้น ก็ต้องนั่งรันคิววันใหม่ทำให้ไกด์เสียโอกาสและขาดรายได้สัมภาษณ์นักท่องเที่ยว จากกรุงเทพ(ชุดขาว) บอกว่า การขึ้นถ้ำคาก็ถือว่าโอเคสนุกดี การขึ้นครั้งแรกคิดว่าจะเหนื่อยก็ไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น คุ้มค่ากับการจองมากๆ เพราะรอนานมากๆ จองตั้งแต่ปีที่แล้วเพิ่งได้คิวในวันนี้ สำหรับประเด็นดรามา คิดว่า ตอนแรกมาคนจะเยอะมั้ย แต่พอมาแล้วช่วงที่มาคนไม่เยอะ ส่วนการจัดการของที่นี่ก็ดีเป็นระบบมากขึ้น

หลังจากนั้น ผวจ.ได้เดินทางไปร่วมประชุม กับนายวันชัย จริยาเศรษฐโชค ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) นางแว่นฟ้า ทองศรี นายก อบจ.บึงกาฬ นายธวัชชัย นันทะแสน ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า /นายวิเศษศักดิ์ วิเศษโวหาร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบึงโขงหลง / นางนงนุช สีทาน้อย ท่องเที่ยวและกีฬาบึงกาฬ /ร.ต.วสันต์ ชัยลา นายก ทต.บึงโขงหลง /นายชัชวาลย์ ทองเชน นอภ.บ้านแพง /นายปัญญา ติดมา ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ /นายพันธ์ยศ กีรติพงศ์ศักดา หน.เขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง โดย ผวจ.กำชับให้ทุกหน่วยงาน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นทีม ไม่โยนภาระให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จากนี้ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันทุกฝ่าย คอยปรึกษาหารือร่วมกันในทุกเดือน สร้างความเชื่อมั่นและความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว หากมีหรือพบปัญหาให้นำมาถกในที่ประชุม จากนั้นให้ส่วนที่เกี่ยวข้องประชุมชุดเล็กร่วมกัน โดยตัวแทนไกค์อาสา(ไกด์ท็อป) ที่เข้าร่วมประชุม แจ้งว่า 1.อยากขอให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว หรือปรับเปลี่ยนจากการจองแอป QueQ มาเป็นการ Walk in แล้วก็จำกัดเวลาขึ้นถึงเที่ยงวัน และหลังเทียงก็ไม่รับให้ขึ้นถ้ำอีก เพราะการขึ้นถ้ำต้องใช้เวลา เร็วสุดคือ 4 ชั่วโมงขึ้น-ลง ช้าสุดคือ 7-9 ชั่วโมง 2.ครอบครัวเดียว เช่นพ่อแม่ลูกจองได้วันเดียวกันแต่คนละเวลา ขอให้ขึ้นถ้ำได้เวลาพร้อมกันเลย เพราะเกี่ยวกับลูกต้องดูแลพ่อแม่ระหว่างเดินทางขึ้นถ้ำด้วย  3.ส่วนลานจอดรถอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะยังปรับปรุงระบบกันอยู่ 4.ขอให้สร้างบันไดทางขึ้น-ลงเพิ่ม 5.ห้องน้ำด้านล่างยังไม่เพียงพอต่อการใช้บริการ ส่วนด้านบนก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำ จะเอาขึ้นไปอย่างไร 6.การจัดการปัญหาขยะมูลฝอย ไกด์อาสาก็ช่วยกันอยู่แล้ว

นายพันธ์ยศ กีรติพงศ์ศักดา หน.เขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา กล่าวในที่ประชุมว่า เส้นทางการขึ้นต้องยอมรับว่า มันพัฒนายากจริงๆ โดยเฉพาะจุดบันไดแดงที่สูงชันและแคบ มักจะติดตรงนี้ประจำ แต่ก่อนคนจองคิวบ่ายก็มาเช้า คนจองคิวเที่ยงก็มาเช้า ไปพร้อมๆ กันเยอะ ขาขึ้นได้ก็ไม่เป็นไร แต่พอเริ่มมีคนลงก็ติดแล้ว ตรงนี้เราเร่งที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ กำลังจะหาวิธีการทำบันไดทางเบี่ยงขาลง ก็คงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจรังวัด มาสำรวจ และเมื่อมีการขึ้น-ลง ได้อย่างสะดวกไม่มีการติดขัด อาจจะเพิ่มคิวได้แน่นอนเผลอๆ ไม่ต้องจองคิวด้วย ผมทำถ้ำนาคี มีเคสตัวอย่างที่ถ้ำนาคี ที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ ผมจะไม่มีการให้จองคิวเด็ดขาด เรื่องการจองคิวเป็นปัญหาอย่างมากของอุทยานฯ 1.ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ 2.ต้องมีระบบเช็ครายชื่อ และหลักฐานเยอะแยะไปหมด ซึ่งที่บริเวณถ้ำนาคี เราสามารถจัดระบบได้โดยไม่ต้องจองคิว  ส่วนถ้ำนาคา แม้จะพัฒนายาก แต่จะพยายามทำให้เหมือนถ้ำนาคี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถ้ำ หรือการเข้าไปกราบไหว้ที่เศียร 1 จะให้นักท่องเที่ยวจำกัดเวลาให้น้อยที่สุด อาจจะต้องถึงขนาดที่ว่างดการถ่ายภาพ ถ้าไม่จำเป็น ที่ผ่านมาพยายามทำทุกอย่าง พยายามทำทางเบี่ยงออกที่เศียร 1 ไม่ให้นักท่องเที่ยวมาติดมาออกันเพื่อที่จะถ่ายรูป จะได้ไม่ต้องมาติดกันออกันนาน แต่ปรากฏว่า เหมือนเดิม อยากไปถ่ายรูป ไหนๆ มาแล้ว มาจากภูเก็ต มาจากยะลา มาแล้วก็อยากถ่ายรูป คนที่จะให้ข้อมูล หรือคนที่จะแนะนำนักท่องเที่ยวได้ดีที่สุดก็คือ ไกด์อาสา มันจะค่ำแล้วครับ ต้องรีบลงครับ แล้วไกด์อาสาก็ต้องรับผิดชอบด้วย พาเขาไปถ่ายรูปตรงนั้น ตอนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ชุดใหม่ เคร่งครัดเรื่องเวลาแล้ว เมื่อวานเริ่มปฏิบัติงานตามกฎเหล็ก วันแรก ได้รับคำตำหนิ ติเตียน มาเยอะว่า มาแล้วไม่ได้ขึ้น แต่บางส่วนก็ให้คำชื่นชม มาถึงโดนเจ้าหน้าที่กักไม่ให้ขึ้น เนื่องจากยังไม่ถึงเวลาของตัวเอง เขาก็หัวร้อน แต่เขาก็ยอมรับ เพราะตัวเองจองได้รอบ 10 โมง พอได้ขึ้นแล้ว เขาชื่นชมครับ ว่าเจ้าหน้าที่เคร่งครัดแบบนี้ดี เพราะสามารถเข้าไปชมถ้ำนาคา โดยที่แทบไม่ต้องรอบัตรคิวที่ถ้ำนาคาก็ว่าได้ ไปถึงเข้าได้เลย มีเวลาถ่ายรูป มีเวลาเที่ยวชมจุดอื่นได้อีกต่างหาก เป็นผลดีและมีคำชื่นชมจากนักท่องเที่ยวอีกต่างหากที่เข้ามาอย่างถูกต้อง ที่ผ่านมาก็ยอมรับกันไป เจ้าหน้าที่ชุดเก่าก็ต้องไปว่ากันไป ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ปล่อยขึ้นไปได้ยังไงเยอะแยะไปหมด แล้วก็วันที่ 16 นี้จะเป็นวันหยุด วันพระใหญ่ด้วย (มาฆบูชา) เราก็ยังเคร่งครัดในเรื่องนี้อยู่ ไม่ให้ขึ้นนอกเวลา ใครไม่มีรายชื่อใน QueQ ก็จะไม่ได้ขึ้น ก็ขอวิงวอนอาสาพวกเราช่วยกันประชาสัมพันธ์ ถ้าหากท่านไม่มีคิวแล้วอย่าคิดมาให้ยากเลย เพราะเจ้าหน้าที่ชุดนี้ปฏิบัติตามกรมอุทยานที่สั่งการ และเมื่อวานนี้ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ มาตำหนิ มาโวยวายอยู่หน้าทางเข้ามาแล้วไม่ได้ขึ้นถ้ำ บางทีเจ้าหน้าที่ผมก็แอบไปนั่งร้องไห้ กดดันมากครับเห็นใจเจ้าหน้าที่หน่อย แล้วอะไรๆ มันจะดีขึ้นเป็นลำดับ 

นายวันชัย จริยาเศรษฐโชค ผอ.สำนักบริการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี กล่าวว่า หลังจากได้ข้อสรุปจากในที่ประชุมในวันนี้แล้ว ซึ่งเวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุป หากได้ก็จะรายงานตรงต่ออธิบดีกรมอุทยาน และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป (ผลประชุม /1. งดคิววีไอพีทุกกรณี /2.นทท. ที่จะมาขึ้นถ้ำต้องจองผ่านแอพ QueQ และมาตามเวลาที่จองกรณีจองมาคนละเวลาให้รวมกรุ๊ปขึ้นเวลาสุดท้ายหรือตามความเหมาะสม /3.กรณีไกด์อินเตอร์นำเที่ยวต้องใช้อาสานำเที่ยวท้องถิ่นขึ้นด้วยทุกกรณีเป็นกฎ /4.หลังจาก 9 มี.ค.65 จะนำอาสานำเที่ยวท้องถิ่นเข้าระบบ คุณสมบัติเบื้องต้นต้องบรรลุนิติภาวะ.. /5.หลังจากบริหารจัดการเรื่องสะพานทางขึ้น-ลงเรียบร้อยอาจมีการเพิ่มจำนวน นทท./6.ผู้ที่ลักลอบเข้าอุทยานมีความผิดตามกฎหมาย จนท. อุทยานจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ได้จองคิวและแอบขึ้น)





ผู้ว่าฯบึงกาฬ กล่าวว่า การจัดการการท่องเที่ยวที่ถ้ำนาคา หลังมีการเพิ่มความเข้มงวดให้เฉพาะนักท่องเที่ยวที่จองคิวผ่านแอปฯ QueQ เท่านั้นที่สามารถเข้าชมถ้ำนาคาได้ โดยจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์กับทุกภาคส่วน พบว่า การให้บริการนักท่องเที่ยวมีความเรียบร้อยดี และมีการปรับให้ทุกอย่างอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เร็วขึ้น ต้องมีการแสดงหลักฐานให้เรียบร้อย และต้องแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า เพื่อการอำนวยความสะดวกจะได้ไม่ติดขัด ส่วนเรื่องของการที่จะมีไกด์นำเที่ยวก็เรียบร้อยดี โดยที่ประชุมได้แนะนำไปว่า การดำเนินการต่างๆ ไกด์จะต้องมีหน้าที่อยู่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.นำเที่ยวและอธิบาย 2.ต้องทำให้การเดินทางสะดวกสบายและไม่ติดขัด 3.บอกกล่าวแก่นักท่องเที่ยวให้ชัดเจนเรื่องการขึ้นลง อยู่ตรงไหนนานเท่าไหร่ จะได้ช่วยกันอำนวยความสะดวก ส่วนกรณีผู้เดินทางขึ้นไปชมถ้ำนาคา กำหนดโควตาไว้ที่ 500 คน ถ้าได้จองกันก็จะสะดวก แต่กรณีที่มีนักท่องเที่ยวแจ้งว่า ที่ผ่านมามีการขึ้นไปโดยไม่ผ่านการจองนั้น อาจจะเป็นเพราะมีการอะลุ่มอล่วยบ้าง จึงต้องขออภัยนักท่องเที่ยวต่อกรณีดังกล่าว แต่โดยปกติแล้วก็อยู่ที่ประมาณ 500 – 600 คน ไม่เกินจากนี้ อย่างไรก็ตาม จากการประชุมหารือ เราก็ได้แก้จุดอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้ขึ้นอีก วันนี้ก็มาประชุมร่วมกันเพื่อที่จะกำหนดระบบให้ดี ทั้งระบบที่จะทำให้คนขึ้นไปได้สะดวก ปลอดภัย มีโครงสร้างและเส้นทางเดินที่ดี รวมถึงการใช้เวลาให้เหมาะสม พร้อมทั้งการปรับปรุงห้องน้ำ, สะพานที่แข็งแรงมั่นคง, ทางขึ้นทางลงแยกกัน ซึ่งก็เป็นโครงสร้างที่จะทำให้การท่องเที่ยวมีความปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น โดยการใช้งบประมาณของท้องถิ่นคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ตลอดจนการบริการจัดเก็บค่าธรรมเนียมก็จะต้องโปร่งใส และใช้เงินให้ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการที่จะให้การมีส่วนร่วมโดยเอาอาสาสมัครเข้ามาทำงาน ก็จะได้ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนในจุดทุกจุด โดยเฉพาะจุดที่เข้าถ้ำ ภายในถ้ำก็จะต้องดูแลว่า คนจะแออัดเท่าไหร่, เข้าแล้วออกอย่างไร, ต้องมีไกด์คอยแนะนำ และเป็นผู้นำที่แจ้งให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงการปฏิบัติต่างๆ และต้องขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวว่า ถ้าท่านจะมาเที่ยว ท่านต้องจองคิวล่วงหน้า และเมื่อมาแล้ว การบริการของไกด์ก็จะต้องร่วมมือช่วยกัน ทุกอย่างก็จะปลอดภัยและสะดวกสบาย

จังหวัดบึงกาฬวันนี้ คนที่มาเที่ยวก็จะเที่ยวในหลายสถานที่ ตั้งแต่หินสามวาฬ ถ้ำนาคา ภูทอก แล้วก็ไปเที่ยวตามวัดวาอารามต่างๆ น้ำตกถ้ำพระ น้ำตกเจ็ดสี ตลอดจนสะดือแม่น้ำโขง และอีกหลายๆ ที่โดยจากการหารือมีหลักการคือ ให้สะดวกและปลอดภัย คือจะต้องทำให้พี่น้องประชาชนได้สะดวกสบาย แต่ก็ต้องต้องปลอดภัยด้วย สำหรับถ้ำนาคาก็เช่นเดียวกัน เป็นสถานที่ที่ต้องมีความศรัทธาเดินทางขึ้นไปที่สูง จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่มีคณะกรรมการในระดับอำเภอ/ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และให้มีการประชุมกันทุก 2 เดือน เพราะหากการทำงานมีปัญหา ก็จะได้นำเอาปัญหานั้นมาพูดคุยกันในทางปฏิบัติ  โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กำชับว่า ต่อไปนี้การทำงานต่างๆนั้น จะมีคนรับผิดชอบ และนำเรื่องต่างๆ มาคุยกัน บูรณาการกันทุกภาคส่วน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่อุทยาน นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่เป็นอาสาสมัครในการดูแลแต่ละจุด ทั้งทางขึ้น และทางธรรมชาติที่ไม่ควรจะขึ้น ต้องมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครดูแล และตลอดจนไกด์ที่มาเป็นอาสาสมัครก็จะต้องช่วยกันทำหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และที่สำคัญ นักท่องเที่ยวก็จะต้องปฏิบัติตามกติกา เช่น การจองคิวตามระบบแอปฯ QueQ ล่วงหน้า, ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 รวมทั้งต้องรักษาเวลาในการเข้าชมถ้ำนาคา สำหรับกรณีของนักท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ที่ 500 คน มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น ณ วันนี้กำหนดไว้ที่ 500 คน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้ เนื่องจากลักษณะเส้นทางการเดินทาง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการติดขัด และสวนทางกัน อาจจะนำไปสู่อันตราย แต่หากเราทำเส้นทางให้มีทางขึ้น ทางลงแยกกันต่างหาก ก็อาจจะมีการเพิ่มจำนวนขึ้นได้ เพราะการกำหนดไว้ที่ 500 คน อาจจะไม่สอดรับกับความนิยม ความศรัทธาของประชาชน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มาด้วยความศรัทธา จังหวัดบึงกาฬก็จะมีคนมาเที่ยวเพิ่มขึ้น และเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล จึงต้องมีแผนที่จะทำทางให้เรียบร้อย ตลอดจนการบริการด้านห้องน้ำ เหล่านี้ก็อยู่ในหลักการที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งการท่องเที่ยวก็จะต้องสอดรับ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือธรรมชาติ

ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาแบบพิเศษ หรือแบบ VIP นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ปกติตามกฎหมาย ไม่ได้มี VIP ซึ่ง VIP ที่เราพูดกัน อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ของคณะต่างๆ มาศึกษาดูงาน ซึ่งทุกอย่างอยู่ในโควตา คือ 500 คน/วัน อาจจะเป็นกรณีอื่นมากกว่าที่ยังมีจุดอ่อนอยู่ ที่นักท่องเที่ยวมาแล้วอยากขึ้น แล้วก็มีการอะลุ่มอล่วยกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่อง VIP ทั้ง ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ที่มาศึกษาดูงานก็ไม่ใช่ VIP ปัญหาเหล่านี้อาจจะต้องมาขันน็อตให้แน่นขึ้น ปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น ทุกอย่างก็จะเป็นธรรมและโปร่งใส.








บึงกาฬ//ข่าว : นิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี

« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น