BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

รู้จักจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ จังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย | ตอนที่ 2


ต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัดบึงกาฬ

สิรินธรวัลลี หรือชื่อพื้นเมือง สามสิบสองประดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia sirindhorniae K. & S.S. Larsen อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE เป็นพืชถิ่นเดียว และหายากทางนิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์ พบที่จังหวัดบึงกาฬ ตามชายป่าดิบแล้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว และบริเวณใกล้เคียงระดับความสูง ๑๕๐ – ๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

ความสำคัญ ในปี ๒๕๓๘ ดร.ชวลิต นิยมธรรม และคณะ ได้ค้นพบ ณ บริเวณชายป่าดิบแล้ง บนเทือกเขาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว พื้นที่จังหวัดหนองคายเดิม ต่อมาเมื่อศาสตราจารย์ไค ลาร์เซน (Kai Lasen) ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้ชาวเดนมาร์ก และภรรยา (อาจารย์สุพีร์ศักดิ์สุวรรณ ลาร์เซน) เดินทางมาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกจึงขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้พระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระนามของพระองค์ท่านโดยใช้ชื่อว่า Bauhinia sirindhorniae K. & S.S. Larsen หรือ สิรินธรวัลลี อันหมายถึง วัลยชาติแห่งองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ดังนั้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้มีพระกรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และชาวจังหวัดบึงกาฬตลอดมา ประกอบกับเป็นพันธุ์ไม้หายากประจำถิ่นมีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและใกล้เคียงเท่านั้น สิรินธรวัลลีจึงเหมาะสมที่จะเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดบึงกาฬ


ตราประจำจังหวัด ประกอบด้วย ภูทอก บึงโขงหลง และต้นไม้ ในวงลวดลายไทย

ความหมาย

ภูทอก หมายถึง ภูเขาที่มีลักษณะเป็นภูโดดลูกเดียว และอีกนัยหนึ่งหมายถึงภูทอกอันเป็นที่รู้จักของมหาชน คือ ภูทอกในจังหวัดบึงกาฬที่มีสะพานและบันไดไม้เวียนขึ้น ๗ ชั้น สามารถชมทัศนียภาพได้โดยรอบ สร้างด้วยแรงศรัทธาของพุทธบริษัทนานถึง ๕ ปี เปรียบเสมือนเส้นทางธรรม ที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกี สู่โลกแห่งโลกุตระหรือโลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของพระเกจิอาจารย์และชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว “เชิงพุทธรักษ์” คือ การท่องเที่ยวเชิงแสวงบุญหรือธรรมจาริกที่สำคัญแห่งหนึ่ง

บึงโขงหลง หมายถึง แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เป็นทั้งแหล่งที่ให้ประโยชน์ในการยังชีพของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ไม่ว่าคน สัตว์ใหญ่น้อย หรือพืช เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เมื่อปี ๒๕๒๕ และขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ อันดับที่ ๑,๐๙๘ ของโลก (Wetland of International Importance) เมื่อปี ๒๕๔๔ เป็นแห่งที่สองในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงให้เห็นถึงความชุ่มชื้นแห่งแผ่นดินบึงกาฬ และที่สำคัญคือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด โดยน้ำจากบึงโขงหลงได้ใช้ทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญในหลายคราวอีกด้วย

ต้นไม้ หมายถึง ความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยและยังชีพของหมู่คนและสัตว์ ทั้งมวล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดบึงกาฬ ที่มีป่าไม้และพรรณไม้มีค่ามากมาย ตลอดจนมีสัตว์หายากอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก


ธงประจำจังหวัดบึงกาฬ

เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๔ เซนติเมตร ยาว ๘๔ เซนติเมตร ประกอบด้วยแถบสี ๓ แถบตามสัดส่วนธง แถบสีขาว ขนาดความกว้าง ๒๓ เซนติเมตร อยู่กึ่งกลางพื้นธง สีม่วงซึ่งเหลือเป็นแถบบนและแถบล่างความกว้างแถบละ 15.5 เซนติเมตร มีตราจังหวัดอยู่ตรงกลางขนาดเส้นรอบวง ๗๗ เซนติเมตร

ความหมาย

ขนาดของธง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕๔ เซนติเมตร หมายถึง ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นปีที่ตั้งจังหวัดบึงกาฬ ขนาดความยาว ๘๔ เซนติเมตร หมายถึง ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา (ครบ 7 รอบ) มีแถบสี ๓ แถบ หมายถึง เดือน ๓ คือเดือนมีนาคม แถบสีขาวขนาดความกว้าง ๒๓ เซนติเมตร หมายถึง วันที่ ๒๓ ที่ตั้งจังหวัดบึงกาฬ มีตราประจำจังหวัดอยู่ตรงกลางขนาดเส้นรอบวง ๗๗ เซนติเมตร หมายถึง จังหวัดที่ ๗๗ ของประเทศไทย

สีม่วงขาว คือ สีของจังหวัดบึงกาฬ สีม่วง หมายถึงสีประจำจังหวัดหนองคาย เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬแยกการปกครองออกมาจากจังหวัดหนองคาย จึงยังคงมีความสัมพันธ์กันทั้งในเชิงสัญลักษณ์ ความผูกพันของความเป็นญาติมิตร สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความดี ความมีคุณธรรม เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬ เป็นแผ่นดินแห่งความบริสุทธิ์และสูงส่งด้วยคุณธรรม ๓ ประการ คือ พระปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์ เช่นหลวงพ่อใหญ่ วัดสำคัญ เช่น วัดโพธาราม และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เช่น หลวงปู่ทองพูล เป็นต้น

« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น