BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"ถ้ำนาคา" พลังศรัทธา ความเชื่อ ความลี้ลับในตำนาน “พญานาค” แห่งลำน้ำโขง






“ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธา ความเชื่อ ความลี้ลับในตำนาน “พญานาค” แห่งลำน้ำโขง


ถ้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับวัดถ้ำชัยมงคล การเดินไปให้ถึงจุดหมายต้องขึ้นบันไดสูงใช้เวลาเดินราวๆ ชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่ง ไฮไลต์สำคัญแห่งศรัทธานี้คือรูปหินพญานาคขนาดใหญ่ยักษ์ที่มีรูปทรงคล้ายงูยักษ์หรือพญานาคที่เปิดเผยให้เห็นทั้งส่วนหัว...ลำตัว กระทั่งเกล็ดชัดเจนตระการตาเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านโดยทั่ว

“ถ้ำ...ไม่ใช่แค่รูในภูเขาแต่เป็นที่อยู่ที่มั่นคงแห่งแรกของมนุษย์ เป็นบ้านหลังแรกในยุคแรกๆก็อยู่กันตามถ้ำอาจจะโพรงเล็ก...โพรงใหญ่ ที่สำคัญบริเวณที่เป็นหินปูนจะเป็นหุบเขาหลุมยุบที่เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติ

...สมมติว่ามีถ้ำอยู่ตรงกลางพอพัฒนานานๆ หลังคาถ้ำพังก็กลายเป็นที่ราบ ด้านข้างก็เป็นหน้าผาสูง พบว่าตามหน้าผาสูงๆจะมีรูอยู่ รูเหล่านี้มักจะพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย”

อาจารย์ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำและนักธรณีวิทยาแถวหน้าเมืองไทย บอกอีกว่า “ถ้ำนาคา” ว่ากันถึงตัวถ้ำเป็นเพียงจุดเล็กๆบนภูเขาหินทรายที่มีชื่อว่าภูลังกา ถ้ำนี้แม้จะเป็นถ้ำขนาดเล็ก และการเข้าถึงต้องเดินขึ้นเขาจากวัดชัยมงคลขึ้นไปตามบันไดที่ชันมากหลายช่วง ประมาณไม่ต่ำกว่า 600 ขั้น และจะใช้เวลาเดินขึ้นจนไปถึงถ้ำประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง แต่ก็เป็นถ้ำที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก










เชื่อได้ว่า...ที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีที่โดดเด่นมากในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะในถ้ำมีสิ่งที่ดูคล้าย “งูยักษ์” หรือ “พญานาค” ที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ ขดตัวกลายเป็นหินอยู่ภายในตัวถ้ำ

“พญานาค”...มีจริงหรือไม่? ยังเป็นคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยใคร่อยากที่จะรู้ หากแต่ในคติความเชื่อที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน พญานาคเป็นสัตว์เทพเจ้าซึ่งมีพลังอิทธิฤทธิ์ มีภพภูมิเป็นทิพย์ สามารถบันดาลให้เกิดสรรพสิ่งเหนือโลกได้อเนกประการ และมีความพันผูกกับศาสนา...พุทธ พราหมณ์-ฮินดู

ก่อนพระพุทธองค์จะประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสวยชาติเป็นพญานาคถึง 2 ชาติ คือเป็นพญานาคภูริทัตตนาคราชกับพญานาคจำปานาคราช และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 4 สัปดาห์ เกิดฝนตกหนัก พญานาคมุจลินท์จึงขึ้นจากน้ำขนด กาย 7 รอบ แผ่พังพานเหนือพระเศียรเพื่อป้องลมและฝน

...อันเป็นต้นกำเนิดพระพุทธรูปปางนาคปรก

ในสมัยพุทธกาล...พญานาคตนหนึ่งมีความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาเลยแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวช แต่พระพุทธองค์มิอนุญาตและเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งศรัทธาจึงให้เรียกผู้ที่จะบวชว่า “นาค”









พราหมณ์ ...แทรกความเชื่อว่า พญานาคเป็นเจ้าแห่งบาดาล ลำตัวมีความยาว อย่างพระนาควาสุกรีซึ่งเป็นสร้อยสังวาลของพระศิวะ หรือพญาอนันตนาคราชที่ขนดตัวเป็นบัลลังก์ให้พระนารายณ์ประทับ ณ เกษียรสมุทร และเป็นต้นกำเนิดพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

นอกจากนี้ แล้วความเชื่อต่อพญานาคมิได้สอดแทรกอยู่ในศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเข้าไปอยู่ในตำนานท้องถิ่นได้อย่างผสมกลมกลืน ชนชาวขอมเชื่อว่าพญานาคเป็นบรรพบุรุษและสร้างเมืองให้กับพวกเขา ราวๆพุทธศตวรรษที่ 6 โอรสกษัตริย์เขมรเคยได้กับธิดาพญานาคชื่อนางทาวดี กระทั่งมีโอรสชื่อ...พระเกตุมาลา

เมืองจีนก็โยงความเชื่อว่า...พญานาค 2 ตัวอาศัยอยู่ในหนองแสเกิดวิวาทกัน ตัวหนึ่งจึงละที่อยู่ เอาอกไถลงมาทางใต้กลายเป็น “แม่น้ำของ” หรือ “โขง” ซึ่งเกี่ยวโยงพันผูกกับพญานาคในลุ่มน้ำแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น...เชียงรุ้ง เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ล้วนแล้วแต่มีพิธีกรรมในการกราบไหว้บูชาพญานาค

ทั้งฝั่งประเทศ...ไทย-ลาว ต่างได้สัมผัสกับพญานาคทุกปีในช่วงออกพรรษา อันเป็นวันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคจะชื่นชมยินดี จุดบั้งไฟถวาย จนกลายเป็นประเพณีสืบมา


ประเด็นวิชาการลักษณะทางธรณีวิทยาและถ้ำวิทยาที่เกี่ยวข้องกับ การเกิดถ้ำนาคา และ การเกิดเกล็ดพญานาค อาจารย์ชัยพร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำอธิบายว่า มาจากหินทรายสีน้ำตาลแดงที่ถูกพัดพา... สะสมตัวของเม็ดดินเม็ดทรายที่เกิดจากกระแสลมในทะเลทราย

ลักษณะเด่นคือจะมีชั้นหินเฉียงระดับ ที่สามารถบอกทิศทางของลมที่พัดในสมัยโบราณนั้นได้

ความโดดเด่นคือ...หินทรายบริเวณนี้ความหนาค่อนข้างมาก เนื้อหินมีความเป็นเนื้อเดียวกันและมีความพรุนสูงด้วย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดลายบนหิน

ดูแล้วจะคล้าย... “เกล็ดพญานาค” ตามจินตนาการของคนในแถบนี้ได้

ส่วนกลไกการเกิด “ถ้ำนาคา” เป็นวัฏจักรการกัดเซาะในช่วงน้ำมากน้ำน้อยในยุคโลกร้อนและยุคน้ำแข็งที่มีระดับความแตกต่างกันอยู่ทำให้ส่วนที่โค้งนูนออกจะดูคล้ายกับลำตัวของ “งูยักษ์” หรือ “พญานาค”

ใน “ถ้ำนาคา” มีส่วนที่เป็นหินคล้ายลำตัว “พญานาค” ประมาณ 4-5 ชั้นซ้อนกัน








เรื่องราวของ “พญานาค”...เป็นเรื่องที่คุ้นชิน ตามความเชื่อของผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงมานานแล้ว จนเกิดมีตำนานหรือเรื่องเล่าอันเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ไม่ว่า...จะเป็นตำนานการเกิดแม่น้ำโขง ที่มีตำนานของเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดของสองพญานาคและพญาแถน

แต่สำหรับ “ถ้ำนาคา” อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬนั้น จะมีตำนานเป็นของตนเอง คือเรื่องราวของ “ปู่อือลือ” ที่ว่าท่านเป็นเทพเจ้าอยู่บนสวรรค์แต่ถูกสาปให้เป็นพญานาคมาปกครองเมืองบาดาลที่ซึ่งมีทั้งพญานาค มนุษย์อยู่ร่วมกัน

ปัจจุบันเชื่อกันว่า...เมืองที่ว่านี้อยู่ที่บึงโขง-หลง จังหวัดบึงกาฬนั่นเอง

ครั้น...ต่อมามนุษย์และพญานาคเกิดมีจิตพิศวาสกันจน “มีอะไรๆกัน” ท่านปู่อือลือเห็นว่าผิดจารีต ก็เลยลงโทษโดยสาปให้บริวารของตนกลายเป็นหินอยู่ในถ้ำที่อื่นๆในบึงกาฬเสียเลย

เรื่องราวบางเรื่อง พลังบางอย่างที่หลายๆคนสัมผัสได้เป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ รับรู้ได้เหมือนๆกัน บางคนก็ว่าเป็นผลมาจากสัมผัสการรับรู้เหนือธรรมชาติ การฝึกปฏิบัติในญาณสมาธิ ฯลฯ

เรื่องราวเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้กับผู้ที่มาเยือน “ถ้ำนาคา” ที่หลายๆคนก็บอกไม่ได้ว่าทำไมจึงต้องมา ทำไมจึงต้องดั้นด้นมาดูให้เห็นกับตา มาได้สัมผัสของจริงกันถึงสถานที่แห่งนี้ซึ่งล้วนแล้วเป็นเรื่องของศรัทธาทั้งสิ้น

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อ โปรดอย่าได้...“ลบหลู่”


ภาพข่าว : Buengkan day
https://www.facebook.com/Buengkanday
ข่าวต้นฉบับ

« PREV
NEXT »

1 ความคิดเห็น