สัมภาษณ์พิเศษ
กระแสการท่องเที่ยวแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับ “บึงกาฬ” จังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย แม้อยู่ในช่วงพัฒนาตามหลังจังหวัดอื่นอยู่มาก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและทรัพยากรซึ่งมีอยู่รอบด้าน ทั้งทำเลที่ตั้งเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นในแถบลุ่มน้ำโขงและประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว สามารถขับเคลื่อนจังหวัดให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจได้ จังหวัดบึงกาฬจึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่มีความน่าสนใจไม่น้อย
“สนิท ขาวสอาด” ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดบึงกาฬเพิ่งก่อตั้งมาได้เพียง 10 ปี และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 11 มีจำนวนประชากรประมาณ 4 แสนกว่าคน จาก 8 อำเภอ อาชีพหลักส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกยางพารา ทำนาข้าว ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ประมาณ 24,500 ล้านบาท (ปี 2562) รายได้ต่อหัวประมาณ 60,000 บาท/คน/ปี ขณะเดียวกันสภาพภูมิประเทศและอากาศจะค่อนข้าง หนาวเย็นหลายเดือน เหมาะกับการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขงที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงกว่า 120 กม.
“จังหวัดเรามีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นเชิงธรรมชาติ อยู่ในภูเขาหรือพื้นที่อุทยาน เช่น ถ้ำนาคา ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา หินสามวาฬที่ภูสิงห์ แหล่งน้ำตกอีก 4-5 แห่ง สะดือแม่น้ำโขง แก่งอาฮงชุมชน OTOP หัตถกรรมผ้าทอมือหมักโคลน ผ้าย้อมคราม ตลอดจนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากจังหวัดหนองคาย มาบึงกาฬ ไปถึงจังหวัดสกลนคร”
ทั้งนี้ รายได้ของประชาชนจากการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ยังไม่มากนัก สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% แต่รายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 60% นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจังหวัดบึงกาฬมีค่าใช้จ่ายรวมค่าเดินทางและค่าที่พักในระยะเวลา 1-2 คืน ขั้นต่ำเฉลี่ย 3,000 บาท/คน รายได้ส่วนที่เหลืออีก 10% จะเป็นภาคบริการ
ในปี 2562 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดบึงกาฬมีตัวเลขประมาณ 6 แสนคน กระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในปี 2563-2564 นักท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 50% เพราะจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ มากพอสมควร และยังไม่มีการส่งเสริมเศรษฐกิจควบคู่กับการแก้ปัญหาโควิด-19 แต่เมื่อรัฐบาลมีการปรับแผนการบริหารให้ทุกอย่างดำเนินไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การส่งเสริมเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มมีผู้คนเดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬมากขึ้น
ช่วงเดือนธันวาคม 2564 และเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่ายอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ สูงเกือบ 2 แสนคน ฉะนั้น คาดว่าตลอดทั้งปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวรวมกว่า 1 ล้านคน ยอดนักท่องเที่ยวน่าจะเติบโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมามาก และมีรายได้สะพัดประมาณ 2,000 ล้านบาท
วาง 5 ยุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐาน
“สนิท” บอกว่า จังหวัดบึงกาฬได้กำหนดยุทธศาสตร์เมื่อปี 2563 ไว้ โดยสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนให้ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้ปณิธาน “สร้างเมือง สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” มีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน คือ 1.พัฒนาส่งเสริมด้านเกษตรกรรมก้าวหน้า และการแปรรูปยางพาราแบบครบวงจร 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ เพิ่มการคมนาคมขนส่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน 4.ต้องสร้างคน สร้างชุมชน ให้มีรายได้ที่มั่นคง ไปสู่สังคมที่มีความสุขยั่งยืน และ 5.จัดระบบภาครัฐเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประชาชนเข้าถึงภาครัฐได้อย่างทั่วถึง
หลักยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ข้อจะเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ดำเนินไปได้ตามเป้าหมาย เบื้องต้นจังหวัดบึงกาฬวางแปลนเมืองให้มีการขนส่งที่สะดวกที่สุด เพราะเป็นเมืองที่เพิ่งสร้างมาเพียง 10 ปี มีเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากที่ต้องขอจากรัฐบาล และในปี 2565 ได้งบประมาณจัดสรรทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงงบฯพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัด รวมประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีโครงการสำคัญที่จะเห็นในเร็ว ๆ นี้ประมาณ 6-7 โครงการ
ผนึกกลุ่ม จว.เสริมการลงทุน
1.โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ มูลค่าประมาณ 3,900 ล้านบาท ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วสร็จในต้นปี 2567
2.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ งบประมาณ 3,500 ล้านบาท ตอนนี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนค่อนข้างสูง อยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อของบประมาณจากกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2571 บนเนื้อที่เกือบ 2,500-3,000 ไร่บริเวณบ้านโป่งเปือย อ.เมืองบึงกาฬ
3.เป็นโครงการเส้นทางไฮเวย์จากจังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ 150 กม. โดยไม่ต้องผ่านจังหวัดหนองคาย งบประมาณ 1,500 ล้านบาท ตอนนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3-4 ปี
4.โครงการสร้างแลนด์มาร์ก หรือจุดเช็กอินของริมแม่น้ำโขง บนเนื้อที่ 500 ไร่ ที่เป็นจุดแสดงสินค้า สวนสาธารณะ ศูนย์นันทนาการขนาดใหญ่ งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับงบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ประมาณ 3,300 ล้านบาท อยู่ในระหว่างสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง และก่อสร้างปฏิมากรรม องค์พญานาค
5.โครงการก่อสร้างถนน 4 เลนรอบจังหวัดบึงกาฬ และเชื่อมจังหวัดหนองคาย-สกลนคร-นครพนม ได้รับงบประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565
6.ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองบายพาส ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา EIA เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบกฎหมาย และ
7.เป็นโครงการที่ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยกระดับขึ้น โดยได้งบประมาณจากกรมโยธาธิการฯเกือบ 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการในยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดอีกหลายโครงการ เช่น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว นาคีรูท (Nakee Routh) และนาคารูท (Naga Routh) การพัฒนาด้านเกษตรเพื่อเชื่อมโยงจังหวัดให้เกิดการลงทุนค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ สมุนไพร โคกระบือ แพะ สุกร สร้างโอกาสส่งสินค้าส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
“ตอนนี้จังหวัดบึงกาฬเรายังไม่มีอะไรเด่นมาก เรามีด่านค้าชายแดนที่เป็นด่านถาวรด่านเดียว สินค้าก็อยู่ในขั้นกำลังพัฒนาให้มีมาตรฐานมากขึ้น และกำลังเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมผลักดันกลยุทธ์พัฒนาระบบงานด้านต่าง ๆ ให้เกิดความสมาร์ท เราเป็นจังหวัดน้องใหม่ที่กำลังเร่งรัดการพัฒนาให้ทัดเทียมกับจังหวัดอื่น และอยากได้งบประมาณเพิ่มอีกถ้าเป็นไปได้ เพื่อให้เติบโตแบบก้าวกระโดดสอดคล้องกับกลุ่มจังหวัด ในปี 2565 นี้ ตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ (KPI) ให้ได้ประมาณ 10% โดยส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดอีเวนต์ กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการลงทุนต่อไป”
https://www.prachachat.net/local-economy/news-873969
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น